ชนชาติไทยมีภาษาเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นมรดกล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ เป็นเครื่องแสดงว่าชาติไทยมีวัฒนธรรมที่สูงส่งมาแต่โบราณกาล ภาษาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตภูมิปัญญา ภาษายังเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชาติอีกด้วย

ความหมายของภาษา

    ภาษาเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีสันสฤตว่า " ภาษ "  ที่แปลความหมายว่า พูด กล่าว หรือ บอก มีเอกสารและนักวิชาการทางด้านภาษาหลายคนได้ให้ความหมายของภาษาไว้ ดังนี้
       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔(๒๕๕๖ : ๘๖๘) กล่าวว่า ภาษา คือ ถ้อยคำที่ใช้
พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการเช่น  ภาษาราชการ ภาษากฎหมาย; เสียงหรือกิริยาอาการที่สื่อความได้ เช่น ภาษาพูดภาษาเขียน ภาษาท่าทาง
       พระยาอุปกิตศิลปสาร(๒๕๑๔ : ๕๙) กล่าวว่า ภาษา หมายถึงเสียงที่พูดออกมา ได้ความอย่างหนึ่ง ตามความต้องการของผู้พูด
       พระยาอนุมานราชธน(๒๕๓๑ : ๑) กล่าวว่า ภาษา คือ การแสดงออกมาซึ่งความในใจจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งหรือหลายคน การแสดงออกมีหลายวิธีแต่ในที่นี้หมายถึงเฉพาะวิธีพูดและเขียนเท่านั้น
       วิไลวรรณ  ขนิษฐานันท์(๒๕๒๖ : ๒) กล่าวว่า ภาษาประกอบขึ้นด้วยเสียงและความหมายโดยนัยสของคุณสมบัตินี้ ภาษาหมายถึงภาษาพูดเท่านั้น ไม่รวมถึงภาษาเขียนภาษาเขียนเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์ใช้บันทึกภาษาพูด
       วิจินตน์ ภานุพงศ์(๒๕๒๕ : ๘๕) อธิบายความหมายภาษาว่า " ภาษา หมายถึงเสียงพูดที่มีระเบียบและมีความหมาย ซึ่งมนุษย์ใช่ในการสื่อความคิด ความรู้สึกและในการที่จะให้ผู้ที่เราพูดด้วยทำสิ่งที่เราต้องการ และแทนสิ่งที่เราพูดถึง
       นววรรณ พันธุเมธา(๒๕๕๑ : ๑) ภาษาเป็นเครื่องมือใช้สื่อสาร ถ่ายทอดความคิดจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุุคคลหนึ่ง ความคิดที่จะถ่ายทอดกันได้ก็โดยที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารรู้ระบบของภาษาที่เรียกว่าไวยากรณ์
      อาจกล่าวโดยสรุปว่า " ภาษา "  หมายถึง เครื่องมือในการสื่อความหมายซึ่งใช้ถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก ความต้องการของตนให้ผู้อื่นทราบ ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูด ถ้อยคำ กิริยาอาการหรือสัญลักษณ์
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น