ชนชาติไทยมีภาษาเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นมรดกล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ เป็นเครื่องแสดงว่าชาติไทยมีวัฒนธรรมที่สูงส่งมาแต่โบราณกาล ภาษาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตภูมิปัญญา ภาษายังเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชาติอีกด้วย

ลักษณะเฉพาะของภาษาไทย

ภาษาไทยมีลักษณะเฉพาะของตนเองแตกต่างจากภาษาอื่นการใช้ภาษาไทยให้ได้ผลตรงตาม จุดมุ่งหมายจะต้องรู้จักหลักเกณฑ์ของภาษาไทยอย่างถ่องแท้ ดังนี้
   ๑. ภาษาไทยมีตัวอักษรเป็นของตนเองภาษาไทยมีรูปตัวอักษรใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวอักษรมาหลายยุคสมัย ทำให้ปัจจุบันเรามีรูปพยัญชนะรูปสระและรูปวรรณยุกต์ใช้แทนเสียงพูดในภาษาของเราเอง  ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจยิ่งเพราะบางชาติไม่มีภาษาของตนเองใช้และยังต้องใช้ภาษาของชาติอื่นอยู่
   ๒. ภาษาไทยแท้มักเป็นคำที่มีพยางค์เดียว โดยคำพยางค์เดียวจะออกเสียงชัดเจนและมีความหมายที่ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้ทันที เช่น พ่อ แม่ นั่ง นอน เดิน เสือ ลิง ฯลฯ
   ๓. ภาษาไทยแท้มีตัวสะกดตรงตามมาตรา มาตราตัวสะกดมี ๘ มาตรา คือแม่กก แม่กด แม่กบ แม่กง
แม่กน แม่กม แม่เกย แม่เกอว คำไทยแท้จะมีตัวสะกดตามมาตราและไม่มีการันต์ เช่น มาก ขาด นับ ของ โยม คน ร่วงโรยขาว ฯลฯ ส่วนคำไทยแท้ที่ไม่มีตัวสะกด เราเรียกว่า มาตราแม่ ก กา เช่นคำว่า ตา ดี งู โต
ฯลฯ
   ๔. ภาษาไทยมีรูปสระวางไว้หลายตะาแหน่ง เช่น ข้างหน้าพยัญชนะ ในคำว่าเสแสร้ง เฉไฉไป แพ โมโห ข้างหลังพยัญชนะ  เช่น จะ มา รา ปอ ข้างบนพยัญชนะ เช่น ดี กัน บีบ คิด ข้างล่างพยัญชนะ เช่น
ครู สู้ ขุด ทรุด ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง เช่น เขา เธอ เละเทะ เกาะ ทั้งข้างหน้าและข้างบนพยัญชนะ เช่น เป็นเสียง เมีย เกลือ
   ๕. ภาษาไทยหนึ่งคำมีหลายความหมาย จะสังเกตได้จากข้อความที่ประกอบแวดล้อมหรือบริบทถ้าคำทำหน้าที่ต่างกันความหมายก็ต่างกัน เช่น "เขาสนุกสนานกันในห้องนั้น แต่น่าแปลกใจว่าทำไมเขากันไมาให้กันเข้าไปในห้อง"  คำว่า "กัน" ทั้ง ๓ คำ มีความหมายต่างกันดังนี้
                         "กัน" คำที่หนึ่ง เป็นสรรพนามแสดงจำนวนมากกว่าหนึ่ง
                         "กัน" คำที่สอง เป็นกริยา  หมายถึง การขัดขวางไม่ให้กระทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง
                         "กัน" คำที่สาม เป็นสรรพนามแสดงถึงผู้พูดแทนคำว่า " ฉัน " (ชื่อคน)
   ๖.  ภาษามีความหมายประณีตมีคำที่มีความหมายหลักเหมือนกัน แต่มีความหมายเฉพาะต่างกัน
เช่น      การทำให้ขาดจากกัน มีคำว่า ตัด หั่น แล่ เชือด เฉือน สับ ฯลฯ
             การทำให้อาหารสุก มีคำว่า ปิ้ง ย่าง ต้ม ตุ๋น ทอด ฯลฯ
             บุพบทบอกสถานที่ (ที่ติดกัน) มีคำว่า ใกล้ ชิด แนบ ข้าง ฯลฯ
   ๗.  ภาษาไทยเป็นภาษาเรียงคำการเรียงคำในภาษาไทยเป็นเรื่องสำคัญ การเปลี่ยนตำแหน่งของคำจะทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไปด้วย เช่น "พ่อแม่ เลี้ยง ลูก" กับ "ลูก เลี้ยงพ่อแม่" มีความหมายที่ต่างกัน
    ๘.  ภาษาไทยเป็นภาษาดนตรีคือ การเปลี่ยนระดับเสียงวรรณยุกต์ทั้ง ๕ เสียง ได้แก่ เสียงสามัญ
เอก โท ตรี จัตวา ทำให้ภาษาไทยมีคำเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อเปลี่ยนระดับเสียงความหมายของคำก็จะเปลี่ยน เช่น "ขาว" หมายถึง สีชนิดหนึ่งหรือกระจ่างแจ้ง เมื่อเปลี่ยนวรรณยุกต์เป็น "ข่าว" หมายถึงคำบอกเล่าเรื่องราว หากเปลี่ยนวรรณยุกต์เป็น "ข้าว" หมายถึง พืชที่ใช้เมล็ดเป็นอาหาร
   ๙.  ภาษาไทยมีวรรคตอน ด้วยเหตุที่ภาษาไทยมีวิธีเขียนคำต่อกันไม่มีการเว้นระยะระหว่างคำเมื่อจบความ การใช้วรรคตอนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะใช้แบ่งความหมายถ้าเว้นวรรคตอนผิด ความหมายก็จะเปลี่ยนไปการพูดก็ต้องเว้นจังหวะให้ถูกที่เช่นเดียวกัน ถ้าหยุดผิดจังหวะความหมายก็จะเปลี่ยนไป เช่น พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียพันตำลึงทอง หมายถึง นิ่งเสียดีกว่าพูด
 ส่วน พูดไปสองไพเบี้ย นิ่ง  เสียพันตำลึงทอง หมายถึงยิ่งนิ่งยิ่งเสียหายมาก
   ๑๐. ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลักษณนามคำลักษณนามจะปรากฏอยู่หลังคำนามและจำนวนนับ ซึ่งตรงกับความหมายของลักษณนามว่า คือ คำที่ทำหน้าที่ประกอบนามอื่นเพื่อแสดงรูปลักษณะ ขนาดของนามนั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ปลา ๒ ตัว เรือ ๔ ลำ พระพุทธรูป ๘ องค์ พระสงฆ์ ๙ รูป บ้าน ๓ หลัง ปี่ ๕ เลา
ลักษณนามทำให้เราเข้าใจลักษณะการมองเห็นของนามข้างหน้า
  ๑๑. ภาษไทยเป็นภาษาที่มีระดับของคำได้แก่ คำราชาศัพท์ ชาติไทยเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมสูงส่งมาแต่โบราณได้รับการยกย่องไปในนานาประเทศที่มีสัมพันธไมตรีกับไทยโดยเฉพาะในเรื่องการคารวะผู้อาวุโสซึ่งแสดงออกทั้งทางกิริยามารยาทและการใช้ภาษา
  ๑๒.  ภาษาไทยมีคำพ้องเสียงพ้องรูปภาษาไทยรับภาษาต่างประเทศมาใช้ก็นำมาปรับให้เข้ากับเสียงในภาษาไทยในคำพ้องเสียง คือ มีเสียงพ้องกันแต่ความหมานต่างกัน จึงต้องเขียนให้ถูก มิฉะนั้นความหมายจะเปลี่ยนไปเช่น  กาฬ-ดำ, กาล-เวลา ส่วนคำพ้องรูป คือคำที่มีรูปเหมือนกันแต่ออกเสียงต่างกัน
รูปคำเหมือนกันแต่ความหมายต่างกันต้องเข้าใจความจึงจะใช้ได้ เช่น เพลา อ่านว่า เพ-ลา หมายถึง เวลา,เพลา อ่านว่า เพลา หมายถึง เบา ๆ หรือส่วนประกอบของยานพาหนะ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น